วิธีรักษากล้ามเนื้อให้หุ่นฟิตในช่วงกินเจ
ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจกันแล้ว โดยจะเริ่มตั่งแต่วันที่ 6 ตุลาคม – 14 ตุลาคม 2564 ซึ่งตลอด 9 วันของเทศกาลกินเจ เหล่านักเล่นกล้ามที่ร่วมถือศีลจะไม่สามารถทานเนื้อสัตว์และผักฉุนบางชนิดได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมควบคุมอาหารและการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน
กินเจ ออกกำลังกายได้ไหม ?
คำถามที่หลายคนสงสัยว่าในระหว่างถือศีลกินเจ สามารถออกกำลังกาย เล่นเวทเหมือนเดิมได้หรือเปล่า ? ตอบเลยว่า ได้ครับ ! เล่นได้ตามปกติทุกอย่าง เพราะจุดประสงค์หลักของการกินเจ คือกินอาหารชีวจิต เพื่อปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้สมดุล ละเว้นกรรมโดยไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และไม่กินสิ่งที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด เป็นต้น พร้อมขัดเกลาจิตใจให้สงบ ซึ่งไม่มีข้อห้ามในเรื่องการออกกลังกาย ยังคงเดินหน้าฟิตหุ่นได้เหมือนเดิม
กินเนื้อสัตว์ไม่ได้ หาโปรตีนจากไหนดี ?
สิ่งที่นักเล่นกล้ามต้องปรับตัวหลัก ๆ คงเป็นเรื่องอาหารการกินนี่แหละ เนื่องจากต้องละเว้นการกินเนื้อสัตว์ นม ไข่ โยเกิร์ต รวมไปถึงอาหารเสริมบางชนิดด้วย ซึ่งล้วนเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อ จึงต้องมีการเปลี่ยนไปกินโปรตีนทดแทนจากธัญพืชและต่าง ๆ แทน โดยแหล่งโปรตีนที่แนะนำในช่วงถือศีลกินเจมีดังนี้
– ถั่ว : ถั่วลันเตา ถั่วแระญี่ปุ่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ วอลนัท
– เมล็ดพืช : เมล็ดเจีย (Chia Seeds) เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งาดำ
– ผักและผลไม้ : ผักโขม ปวยเล้ง ถั่วงอก เห็ดต่าง ๆ ข้าวโพดหวาน บรอกโคลี ต้นอ่อนทานตะวัน ฝรั่ง กล้วย อะโวคาโด
– ข้าว : ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ควินัว (Quinoa)
– โปรตีนทดแทน : เต้าหู้ นมถั่วเหลือง โปรตีนเกษตร ขนมปังโฮลวีท สาหร่ายสไปรูลินา
ทั้งนี้ในช่วงกินเจจะมีอาหารแปรรูปและของทอดวางขายมากมาย แต่สำหรับนักเล่นกล้ามแนะนำให้หลีกเลี่ยง แล้วเลือกกินเป็นอาหารคลีนหรืออาหารสดจะดีกว่า เนื่องจากอาหารแปรรูปจะมีสารปรุงแต่ง น้ำตาล และไขมันจำนวนมาก
คำนวนพลังงานและคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอ
อีกหนึ่งเรื่องที่คนรักการออกกำลังกายไม่ควรมองข้ามเลย คือการคำนวนพลังงานและคุณค่าทางโภชนาการ เพราะหากร่างกายได้รับโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมันน้อยกว่าที่ควร อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาไม่เต็มประสิทธิภาพ และยิ่งออกกำลังกายหนัก ๆ ร่างกายยิ่งเผาผลาญมากขึ้น แล้วไปดึงพลังงานจากโปรตีนมาใช้แทน ส่งผลเกิดการสูญเสียกล้ามเนื้อแทน
ดังนั้นนักเล่นกล้ามควรคำนวนคุณค่าทางโภชนาการให้ดี เพิ่มปริมาณหรือจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น และควรกินอาหารที่ให้พลังงานสูงก่อนออกกำลังกายประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายตอนเทศกาลกินเจ
แน่นอนว่าการสร้างกล้ามเนื้อจำเป็นต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำวันทุกวัน แต่ในช่วงที่ถือศีลกินเจ ร่างกายจะได้รับพลังงานน้อยกว่าปกติ เหล่านักกล้ามอาจจะต้องปรับโปรแกรมออกกำลังกายบ้างเล็กน้อย
การเล่นเวทเทรนนิ่ง : แนะนำให้ปรับมาเล่นแบบ Low Reps หรือเน้นน้ำหนักมากกว่าจำนวน โดยใช้ท่าที่บริหารกลุ่มกล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นหลัก ตามด้วยท่าเล่นเฉพาะจุด แล้วใช้เวลาพักให้นานขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างพละกำลังและประหยัดพลังงานได้ดี
การเล่นคาร์ดิโอ : ความจริงแล้วการกินเจไม่ค่อยมีผลกระทบต่อคนที่ชอบออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอมากนัก แค่อาจจะลดความเข้มข้นและเวลาที่เล่นลงมาเล็กน้อย เพื่อป้องกันภาวะขาดดุลพลังงานและร่างกายอ่อนเพลียสะสม
เท่านี้ก็ทราบกันแล้วนะครับว่า กินเจ ออกกำลังกายได้ไหม และต้องปรับตัวยังไงบ้างในระหว่างถือศีล เพื่อรักษากล้ามเนื้อและหุ่นให้เฟิร์มใหญ่เหมือนเดิม อย่าลืมนำไปรับใช้กันด้วยนะครับ จะได้กินเจได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวกล้ามหายอีกต่อไป
ที่มา : Kapook.com